nawarutmath5010111204013 - อาร์คิมิดีส 'นักคณิตศาสตร์โลก
อาร์คิมิดีส 'นักคณิตศาสตร์โลก
ผมขอนำเรื่องราวของผู้ที่เป็นนักศึกษาและนักคำนวณที่เก่งกาจ จนกระทั่งมีคนขนานนามให้เขาว่าเป็น “นักคณิตศาสตร์โลก” แม้ว่าช่วงเวลาที่เขาเกิดมานั้นเป็นช่วงก่อนคริสต์ศักราชเสียด้วยซ้ำไป ซึ่งหากจะเทียบกับประวัติศาสตร์ตลอดจนอุปนิสัยของคนไทยแล้ว แม้กระทั่งเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว เรายังไม่ค่อยมีใครคิดอะไรใหม่ๆ

       คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การที่โลกเราสามารถเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้เช่นทุกวันนี้ เป็นเพราะว่า เรามีนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมมือกันคิดค้นสารพัดสิ่ง ในโลกให้มนุษย์เราได้ใช้กัน

       และถ้าหากโลกของเราขาดนักวิทยาศาสตร์ที่คอยประดิษฐ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา เชื่อแน่ว่าเกวียนจะยังคงเป็นพาหนะหลักของมนุษย์เหมือนกับภาพที่ชินตาของผมตั้งแต่ในสมัยเด็กๆ และทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา ล้วนแล้วแต่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

       สังคมในอดีตมักจะเชื่อถือบุคคลที่เป็นผู้นำหรือ ผู้ปกครองชุมชน จนบางครั้งกลายมาเป็นการยึดติดตัวผู้นำสืบทอดมาจนถึงลูกหลานของผู้นำคนนั้น สิ่งนี้เป็นอดีตของมนุษย์ที่มักจะยึดติดกับตัวบุคคล จนในบางครั้งนั้นเข้าขั้น “งมงาย” การยึดติดอย่างไม่มีเหตุผลของคนในสมัยก่อนนั้นเกิดมาจากความเชื่อและความนับถือ นักวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาเมื่อหลายพันปีแล้ว แต่ไม่ได้รับความนับถือและยอมรับจากประชาชนทั่วไป ซ้ำยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่แหกคอก

       แต่ในวันนี้ผมขอนำประวัตินักวิทยาศาสตร์ยุคแรกๆ ของโลกมาฝาก เพราะเขาเป็นคนคิดค้นหลักการคิดหลักการคำนวณใหม่ๆ ทางคณิตศาสตร์จนนำไปสู่การประดิษฐ์อุปกรณ์และเครื่องทุ่นแรงต่างๆ ขึ้นมา

       เครื่องใช้เครื่องมือในสมัยก่อนของมนุษย์นั้น สร้างขึ้นตามความพอใจ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงนำ มาใช้งาน หากใช้งานได้ดีก็จะใช้งานต่อไป แต่หากพบว่าอุปกรณ์หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่สร้างขึ้นมานั้นไม่สามารถที่จะทุ่นแรงหรืออำนวยความสะดวกใดๆ ได้เลย อุปกรณ์นั้นก็จะถูกทิ้งไป และมีการ สร้างอุปกรณ์ใหม่ขึ้นมาทดแทน

       สำหรับอาร์คิมิดีสเขาจะเริ่มวางแผนและคิดคำนวณอย่างมีหลักการและเป็นเหตุเป็นผล โดยใช้ตัวเลขในการคำนวณซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนในยุคนั้น แม้กระทั่งคนไทยในสมัยปัจจุบันนี้ ผมเชื่อแน่ว่าอาจไม่สามารถทำได้ แต่ เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว อาร์คิมิดีสนำเอาหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์มาคำนวณและออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง สิ่งนี้เองที่ทำให้เขา ได้รับการยอมรับจากชาวโลกว่าเป็นบิดาแห่งนักคณิตศาสตร์ เนื่องจากเขาทำสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการคิดคำนวณขึ้นมาบนกระดาษเสียก่อน แล้วนำมาลงมือทำจนได้ในสิ่งที่เขาต้องการ

       ซึ่งจะว่าไปแล้วถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากสำหรับคนในยุคสมัยนั้น เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้แต่คำว่าคณิตศาสตร์ยังไม่ค่อยจะมีใครรู้จักเลย อาจเรียกได้ว่าเขาเป็นผู้ที่วางรากฐานทางคณิตศาสตร์ให้กับโลกปัจจุบัน

       ผมเรียนคณิตศาสตร์ไม่ค่อยเก่งนักขณะที่เป็นนักเรียนอยู่ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าคณิตศาสตร์ช่าง เป็นเรื่องที่สุดแสนมหัศจรรย์ที่เราสามารถพิสูจน์ หาค่าความจริงได้ ซึ่งแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่ อาจเป็นเรื่องมหัศจรรย์เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีทาง พิสูจน์ได้

       อย่างเมื่อไม่นานมานี้เอง ผมได้มีโอกาสดู รายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ซึ่งตั้งหัวข้อสำหรับออกอากาศในคืนนั้นว่า โลกกับดวงจันทร์เคยเป็นดาวดวงเดียวกันมาก่อนหรือไม่ และได้มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนนำเอาหลักการทางคณิตศาสตร์มาพิสูจน์จนสามารถได้คำตอบที่ชัดเจนว่า ในอดีต โลกกับดวงจันทร์นั้นคือดาวดวงเดียวกัน และดวงจันทร์ได้แยกตัวออกจากโลกในภายหลัง

       การคำนวณทางด้านคณิตศาสตร์นั้น สามารถคำนวณได้ว่าการโคจรหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์ ในขณะที่โคจรรอบโลกไปด้วยนั้น จะมีระยะห่างจากโลกไปเรื่อยๆ ปีละ 1.5 นิ้ว นั่นก็หมายความว่า หากเราฉายภาพย้อนกลับ และให้ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกเข้ามาเรื่อยๆ ครั้งละ 1.5 นิ้วใน 1 ปี จะเห็นได้ว่าดวงจันทร์อยู่ใกล้กับโลกมาก จนสันนิษฐานได้ว่าดวงจันทร์เป็นชิ้นส่วนหนึ่งของโลกที่หลุดลอยออกไปสู่ห้วงอวกาศ มิเช่นนั้นระยะห่างจากโลกกับดวงจันทร์คงไม่เปลี่ยนแปลงไปทุกปีเช่นนี้

ประวัติ


       ตั้งแต่สมัยเด็กๆ อาร์คิมิดีส น่าจะได้รับการศึกษาในเมืองอเล็กซานเดรีย ของอียิปต์ เพราะที่นั่นเป็นศูนย์รวมของปราชญ์และวิทยาการทุกแขนง รวมทั้งมีห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในโลก เพราะหากเรามามองดูแล้วจะพบว่าทั้งสฟิงก์และพีระมิดถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์และยิ่งใหญ่มาก แม้ในสมัยปัจจุบันจะมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ผมยังไม่แน่ใจได้ว่าจะสามารถสร้างสฟิงก์และพีระมิดได้ยิ่งใหญ่เท่ากับที่มีมาก่อนหรือไม่ จนมีบางคนตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการสร้างของมนุษย์ต่างดาว เพราะไม่เชื่อว่าคนในสมัยโบราณจะสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่อย่างนั้นได้

       เมืองอเล็กซานเดรียถูกสร้างขึ้นโดย จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ เพื่อเป็นประตูเชื่อมระหว่างโลกตะวันออก ณ ที่นี้ มีโรงเรียนสอนวิทยาการต่างๆ มากมาย แต่เมื่อกองทัพของ จูเลียส ซีซาร์ บุกยึดเมืองได้ กองทัพโรมันได้จุดไฟเผาห้องสมุดของที่นี่ ทำให้เอกสาร ตำราและนวนิยายของปราชญ์โบราณหลายคน รวมทั้งข้อมูลประวัติศาสตร์หลายเรื่องต้องสูญสลายหายไป

       แม้อยู่ไกลถึงเมืองไซราคิวส์ แต่อาร์คิมิดีสก็ยังเขียนจดหมายติดต่อกับนักวิชาการกรีกที่อเล็กซานเดรียตลอดเวลา และจากเอกสารนี้เองที่โลกได้รู้ในเวลาต่อมาว่า เขาคิดอะไรอยู่ และรู้อะไรบ้าง นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันชื่อ พลูทาช บันทึกไว้ว่า การที่อาร์คิมิดีสมีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงมาก เพราะเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นมาก เขาสามารถทุ่มเทความสนใจ ครุ่นคิดแก้ปัญหาเดียวได้เป็นเวลานาน จนทำให้ลืมการปฏิบัติภารกิจประจำวันเช่น กินข้าว หรืออาบน้ำ เป็นต้น

       เวลามีปัญหาที่ต้องขบคิด เมื่อเห็นกองเศษ ขี้เถ้า อาร์คิมิดีสก็จะใช้ไม้ขีดเส้นกองขี้เถ้าให้เป็นรูปเรขาคณิต หรือเวลาคนใช้เอาน้ำมันทานวดตามตัว เขาจะใช้นิ้วขีดตามตัวที่ชุ่มด้วยน้ำมันเป็นแผนภาพต่างๆ เป็นต้น และเนื่องจากการที่บิดาของเขาเป็นพระญาติห่างๆ ของกษัตริย์เฮียรอน แห่งนคร ไซราคิวส์ และตัวอาร์คิมิดีสเองนับเป็นปราชญ์ ผู้มีความรู้มากในสมัยนั้น ดังนั้น กษัตริย์เฮียรอนจึงมักทรงขอคำแนะนำจากอาร์คิมิดีสในเรื่องต่างๆ

       และมีครั้งหนึ่งที่กษัตริย์เฮียรอนได้มอบทองคำก้อนให้ช่างทองคำนำไปทำมงกุฎ และมีเสียงเล่าลือถึงพระกรรณของพระองค์ว่า ช่างทองคำได้แอบเติมตะกั่วในมงกุฎแล้วยักยอกทองคำส่วนหนึ่งไป กษัตริย์เฮียรอนจึงทรงขอให้อาร์คิมิดีสตรวจสอบมงกุฎว่าทำด้วยทองคำบริสุทธิ์หรือไม่ อาร์คิมิดีสได้ครุ่นคิดหาวิธีจับผิดช่างทองคำอยู่หลายวัน จนถึงวันหนึ่งขณะที่เขาอาบน้ำ ก็พบว่าเมื่อก้าวลงใน อ่างอาบน้ำที่มีน้ำเต็มถึงขอบอ่าง น้ำจะไหลล้นอ่างออกมา และถ้าเขาจุ่มลงไปทั้งตัว น้ำก็จะล้นออกมากยิ่งขึ้น

       เหตุการณ์นี้ทำให้เขาพินิจพิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ อย่างรอบคอบ จนทำให้อาร์คิมิดีสพบความจริงว่า ปริมาตรของน้ำที่ล้นออกมาจากอ่าง จะเท่ากับปริมาตรของสิ่งต่างๆ ที่เข้าไปแทนที่น้ำเสมอ

       ดังนั้น อาร์คิมิดีสจึงได้ตั้งกฎว่า “ปริมาตรของวัตถุส่วนที่จมในของเหลว ย่อมเท่ากับปริมาตรของของเหลวที่ถูกวัตถุนั้นแทนที่”

       อาร์คิมิดีสตื่นเต้นกับการค้นพบนี้มาก จนถึงกับลุกยืนแล้ววิ่งออกจากอ่างอาบน้ำไปตามถนนในเมืองไซราคิวส์โดยไม่ทันได้นุ่งผ้าใดๆ พร้อมกันนั้นเขาร้องตะโกนว่า “ยูเรกา” และคำว่ายูเรกานี้ก็ได้ดังกังวานมาเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปีแล้ว เพราะทุกวันนี้เวลานักวิทยาศาสตร์ค้นพบอะไรที่ตื่นเต้น เขาก็จะประกาศว่ายูเรกาเช่นเดียวกันกับอาร์คิมิดีส

       การรู้ปริมาตรของน้ำที่ล้นออกมา เมื่อเขาจุ่มมงกุฎทองคำบริสุทธิ์ และมงกุฎทองคำที่มีโลหะอื่นเจือปน ซึ่งมงกุฎทั้งสองมีน้ำหนักเท่ากัน แต่มี ปริมาตรไม่เท่ากันลงในน้ำ ทำให้อาร์คิมิดีสรู้ชัดว่ามงกุฎที่ช่างทองคำถวายกษัตริย์เฮียรอนนั้นมีโลหะอื่นเจืออยู่จริง

       หลังจากนั้นอาร์คิมิดีสก็ศึกษาธรรมชาติของการจมและการลอยของวัตถุต่อ จนพบว่า เวลาวัตถุลอยน้ำนั้น จะดันแยกน้ำออกจากการลอยของวัตถุต่อ จนพบว่าเวลาวัตถุลอยน้ำ วัตถุนั้นจะดันน้ำแยกน้ำออกจากกันทำให้มีแรงดันขึ้น ถ้าวัตถุยิ่งดันแยกน้ำออกได้มากเพียงใด แรงดันขึ้นของน้ำก็จะมากเพียงนั้น การค้นพบนี้จึงสามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดเรือที่มีน้ำหนักมาก และมี ปริมาตรมากจึงลอยน้ำได้ ทั้งนี้เพราะมันแทนที่ น้ำได้มากนั่นเอง

       ผู้คนส่วนมากจดจำอาร์คิมิดีสได้ดีจากเรื่องที่เขาลงอ่างอาบน้ำ แล้วนำหลักการแทนที่น้ำไปใช้พิสูจน์มงกุฎของพระราชาเฮียรอนได้ และนั่นก็คือผลงานที่สำคัญชิ้นหนึ่งของเขา ภายหลังเรียกว่า หลักการอาร์คิมิดีส แต่ผลงานอีกชิ้นที่ใช้กันมา จนทุกวันนี้ก็คือ การสร้างระหัดวิดน้ำ หรือที่มีชื่อ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เกลียวของอาร์คิมิดีส (Archimedes Screw)” เป็นอุปกรณ์ช่วยผันน้ำขึ้นจากที่ต่ำ เพื่อใช้สำหรับวิดน้ำขึ้นมาจากบ่อหรือแม่น้ำ สำหรับใช้ในการอุปโภคหรือบริโภค ซึ่งทำ ให้เสียแรงและเวลาน้อยลงไปอย่างมาก

       การที่อาร์คิมิดีสคิดสร้างระหัดวิดน้ำขึ้นมานั้น ก็เพราะเขาเห็นความลำบากของชาวเมืองในการนำน้ำขึ้นจากบ่อหรือแม่น้ำมาใช้ ซึ่งต้องใช้แรงและเสียเวลาอย่างมาก ระหัดวิดน้ำของอาร์คิมิดีสประกอบไปด้วยท่อทรงกระบอกขนาดใหญ่ ภายในเป็นแกนระหัด มีลักษณะคล้ายกับดอกสว่าน เมื่อต้องการใช้น้ำ ก็หมุนที่ด้ามจับระหัด น้ำก็จะไหลขึ้นมาตามเกลียวระหัดนั้น ซึ่งต่อมามีผู้ดัดแปลงนำ ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย เช่น การ ลำเลียงถ่านหินเข้าสู่เตา และนำขี้เถ้าออกจากเตา การบดเนื้อสัตว์ เป็นต้น

       การแก้ปัญหามงกุฎทองคำครั้งนั้น ได้ทำให้ อาร์คิมิดีสได้พบกฎการลอยและจมของวัตถุ เขาได้แต่งตำราขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ On Floating Bodies ในหนังสือเล่มนั้นเขาได้แถลงกฎการจมว่า ถ้าวัตถุจมในน้ำ น้ำที่ล้นออกมาจากอ่างจะมีปริมาตรเท่ากับวัตถุที่จมลงไปในน้ำเสมอ และกฎการลอยซึ่งมีใจความว่า ถ้าวัตถุลอยในน้ำ วัตถุจะหนักน้อยลง น้ำหนักของวัตถุที่หายไปจะเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่มีปริมาตรเท่าวัตถุส่วนที่จมเสมอ เช่น ...

       สมมติว่ามีวัตถุชิ้นหนึ่งลอยอยู่ในน้ำ โดยส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำมีปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร เพราะเหตุว่าน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตรมีน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม กฎอาร์คิมิดีสบอกว่า น้ำหนักของวัตถุก้อนนั้นในน้ำก็จะลดลง 1,000 กิโลกรัมด้วยเช่นนี้ เป็นต้น

       นอกจากวิทยาการด้านกลศาสตร์แล้ว อาร์คิมิดีสก็ยังมีผลงานด้านแสง วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์อีกด้วย โดยได้คิด ทฤษฎีของคาน ลูกรอก และระบบรอกที่มีรอกหลายตัว เขาได้เคยคิดว่า หากใครหาที่ให้เขายืนนอกโลกได้ เขาสามารถใช้คานยกโลกทั้งโลกได้ นอกจากนี้เขายังแสดงให้กษัตริย์เฮียรอนทรงเห็นอีกว่า เขาเพียงคนเดียวสามารถใช้ระบบลูกรอกที่เขาออกแบบ ดึง เรือที่บรรทุกผู้โดยสารเต็มลำให้เข้ามาจอดที่ท่าเรือได้อย่างสบายๆ

       ความสามารถนี้ได้ทำให้กษัตริย์เฮียรอนทรงชื่นชมในตัวอาร์คิมิดีสมาก ดังนั้น เมื่อนายพล มาร์เซลลัส (Marcellus) แห่งโรม ยกกองทัพมาโจมตีเมืองไซราคิวส์ในปี พ.ศ. 331 กษัตริย์เฮียรอนจึงทรงขอร้องให้อาร์คิมิดีสทำหน้าที่ออกแบบอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกันไซราคิวส์ ซึ่งเขาก็ได้ออกแบบเครื่องยิงกระสุนขนาดใหญ่ถล่มกองทัพเรือโรมัน จนกองทัพทั้งกองต้องถอยห่างออกไปไกลโพ้นพิสัยของกระสุนหิน เมื่อไม่มีโอกาสจะบุกถึงกำแพงเมือง กองทหารโรมันยุคนั้นถึงกับคิดว่า กองทัพตนกำลังต่อสู้กับเทพเจ้าหรืออย่างไร เพราะเพียงแต่เห็นเชือกห้อยจากกำแพงเมือง ทหารโรมันต่างก็พากันวิ่งหนีแทบไม่คิดชีวิต เพราะคิดว่าตนกำลังถูกอาวุธของอาร์คิมิดีสทำร้าย

       เมื่อต่อสู้กันตรงๆ ไม่ได้ กองทัพโรมันจึงใช้วิธีโอบล้อมไซราคิวส์เพื่อให้ชาวเมืองอดอาหารตาย แต่ก็เหมือนฟ้ากำหนด เพราะเมื่อถึงเทศกาลสรรเสริญเทพธิดา Diama ชาวเมืองไซราคิวส์ที่ได้พยายามต่อสู้กองทัพโรมันมานาน 3 ปี ได้ลืมตัว ดื่มสุรายาเมาจนลืมรักษาเมือง นายพลมาร์เซลลัสจึงได้โอกาสเข้าโจมตีอีกครั้ง และสามารถเข้าเมืองได้ในที่สุด จากนั้นนายพลมาร์เซลลัสก็ได้ให้ทหารค้นหาอาร์คิมิดีส เนื่องจากชื่นชมในความสามารถของเขาเป็นอย่างมาก

       ในขณะที่ตามหาอาร์คิมิดีส ทหารได้พบกับ อาร์คิมิดีสกำลังใช้ปลายไม้ขีดเขียนบางอย่างอยู่บนพื้นทราย แต่ทหารผู้นั้นไม่รู้จักอาร์คิมิดีส เมื่อ ทหารเข้าไปถามหาอาร์คิมิดีส เขากลับตวาด ทำให้ทะเลาะวิวาทกัน ทหารผู้นั้นใช้ดาบแทงอาร์คิมิดีสจนเสียชีวิต เมื่อนายพลอาร์เซลลัสทราบเรื่องก็ เสียใจเป็นอย่างมากที่ต้องสูญเสียนักปราชญ์ที่มี ความสามารถอย่างอาร์คิมิดีสไป

       ดังนั้น เขาจึงรับอุปการะครอบครัวของ อาร์คิมิดีสและสร้างอนุสาวรีย์เพื่อให้ระลึกถึงความสามารถของอาร์คิมิดีส อนุสาวรีย์แห่งนี้มีลักษณะรูปทรงกลมอยู่ในทรงกระบอก จากผลงานการประดิษฐ์เครื่องกลผ่อนแรงของอาร์คิมิดีสถือได้ว่าเขาเป็นผู้ให้กำเนิดวิชากลศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งในอดีตและปัจจุบัน

       เขาตายขณะที่อยู่ในโลกคณิตศาสตร์ที่เขารักยิ่งชีวิต มรดกสำคัญที่อาร์คิมิดีสได้ทิ้งให้แก่โลกคือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และตำราหลายเล่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานร่วม 2,000 ปี ใครๆ ก็ พากันคิดว่า โอกาสที่จะเห็นต้นฉบับหนังสือที่เขานั้นมีน้อยเต็มที แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีการจัดแสดงต้นฉบับที่ พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

       อาร์คิมิดีสขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาแห่งกลศาสตร์ที่ แท้จริง เนื่องจากสิ่งประดิษฐ์ของเขามักจะเป็นเครื่องผ่อนแรงที่มีประโยชน์และใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้

       นอกจากนี้อาร์คิมิดีสได้ประดิษฐ์เครื่องผ่อนแรงขึ้นอีกหลายชิ้น เพื่อสร้างความสะดวกสบาย ให้กับชาวเมือง ได้แก่ คานดีดคานงัด (Law of Lever) ใช้สำหรับในการยกของที่มีน้ำหนักมาก นอกจากนี้เขายังได้ประดิษฐ์รอกซึ่งเป็นเครื่องกลสำหรับยกของหนักอีกชนิดหนึ่ง เครื่องกลผ่อนแรงทั้ง 2 ชนิดนี้อาร์คิมิดีสคิดค้นเพื่อกะลาสีเรือหลวงที่ต้องยกของหนักเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน รวมถึงรอกพวง ใช้สำหรับเคลื่อนย้ายของที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก เช่น ก้อนหิน เป็นต้น

       เขายังมีความชำนาญเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เขาสามารถคำนวณหาพื้นที่หน้าตัดของทรงกรวย ทรงกลม และทรงกระบอกได้ โดยใช้สูตรทาง คณิตศาสตร์ที่เขาเป็นคนคิดค้นขึ้น อาวุธอีกชนิดหนึ่งที่เขาประดิษฐ์ขึ้น คือ โลหะขัดเงามีลักษณะ คล้ายกระจกเว้าสะท้อนแสงให้มีจุดรวมความร้อนที่สามารถทำให้เรือของกองทัพโรมันไหม้ไฟได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องกลอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายกับตอร์ปิโดในปัจจุบัน เรียกว่า “เครื่องกล ส่งท่อนไม้” ซึ่งใช้ส่งท่อนไม้ขนาดใหญ่ด้วยกำลังแรงให้แล่นไปในน้ำ เพื่อทำลายเรือข้าศึก กองทัพโรมันใช้เวลานานถึง 3 ปี กว่าจะยึดเมืองไซราคิวส์ได้สำเร็จ แต่มิได้แพ้เพราะกำลังหรือสติปัญญา แต่แพ้เนื่องจากความประมาท

       เขาเป็นผู้บุกเบิกวิธีคำนวณหาพื้นที่และปริมาตรของวัตถุต่างๆ ด้วยเทคนิคที่อาร์คิมิดีสใช้นี้ คือ เทคนิคพื้นฐานที่นิวตัน (Newton) จะใช้ในสร้างวิชาแคลคูคัส (calculus) ในอีก 1,800 ปีต่อมา แต่ในขณะที่อาร์คิมิดีสพบขั้นตอนพื้นฐานของวิชาแคลคูลัส ทฤษฎีของเขาไม่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไป เพราะเหตุว่ายุคนั้นไม่มีนักคณิตศาสตร์ คนใดสามารถสืบทอดความคิดของอาร์คิมิดีสได้ ความคิดของอาร์คิมิดีสจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ จน อีก 1,800 ปี นิวตันจึงได้ใช้ความรู้นั้นสร้างวิชาแคลคูลัสขึ้นมา

       น่าเสียดายว่าเขาได้เขียนตำราไว้มาก แต่หลงเหลือต่อมาเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ผลงานของเขาเริ่มปรากฏแพร่หลายเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 และสะท้อนอยู่ในผลงานของนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เคปเลอร์ และกาลิเลโอ แม้กระทั้งในสมัยหลัง ยังคงมีอิทธิพลต่อนักคณิตศาสตร์หลายคนจึงนับได้ว่าอาร์คิมิดีสมีส่วนอย่างมากในการปูพื้นความรู้ทางคณิตศาสตร์แก่โลกยุคใหม่

       แม้เขาจะเกิดมาในยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อถือในเรื่องลี้ลับและสิ่งงมงาย รวมไปถึงอำนาจของพระเจ้าที่มองไม่เห็น อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า การคิดอย่างมีหลักการสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ และสิ่งต่างๆ ที่เขาคิดขึ้นมานั้น ล้วนมีประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะด้วยหลักการของเขานั่นเองที่นักวิทยาศาสตร์ในโลกปัจจุบันได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์

       ผมเชื่อแน่ว่าหากเราขาดนักคณิตศาสตร์ผู้ชาญฉลาดและยิ่งใหญ่อย่างอาร์คิมิดีสไป โลกของเราคงไม่สามารถก้าวมาได้อย่างเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
 

จากหนังสือพิมพิ์  Post Today.com


ฉบับวันที่ 6  เมษายน  2551


Today, there have been 3 visitors (5 hits) on this page!
This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free